คิดจะเปิดร้านเหล้า ต้องรู้ กฎหมาย ! การเปิดร้านเหล้า มีข้อกำหนดที่ผู้ที่เป็นเจ้าของกิจการจะต้องปฎิบัติ ไม่ว่าจะเป็น การ เปิดร้านเหล้าเล็กๆ ก็ต้องทำให้ถูกต้อง ไม่เช่นนั้น หลังจากเปิดไปอาจจะมีปัญหาเกิดขึ้นภายหลังได้ เราแนะนำให้จดทะเบียน และ มีใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มสุรา มี ใบอนุญาตเปิดร้านเหล้า อย่างถูกต้อง
1. การขอจดทะเบียนพาณิชย์
การเปิดร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มสุรา เป็นการประกอบกิจการพาณิชย์อย่างหนึ่ง หากดำเนินการในรูปแบบบุคคลธรรมดา ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการจดทะเบียนพาณิชย์ ประเภทร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม โดยยื่นขออนุญาตได้ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือสำหนักงานเขตที่ร้านอาหารตั้งอยู่ (กรณีจดทะเบียนบริษัทไว้แล้ว และใช้บริษัทเป็นผู้ดำเนินกิจการร้านอาหารและเครื่องดื่ม ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ซ้ำอีก)
เอกสารที่ต้องใช้สำหรับประกอบการยื่นขออนุญาต
1.แบบฟอร์มคำขอจะทะเบียนพาณิชย์
2.สำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ขออนุญาต
3.หนังสือยอมยินให้ใช้สถานที่เพื่อประกอบกิจการร้านอาหาร พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของสถานที่
4.กรณีเป็นสถานที่เช่า ใช้สัญญาเช่ามาแสดงแทนหนังสือยินยอมก็ได้ พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ให้เช่า
5.แผนที่ตั้งของร้านอาหารที่จะทำการเปิด
กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปยื่นแทน ต้องมีหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ 10 บาท พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
6.เมื่อยื่นขออนุญาต หากเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเห็นว่าเอกสารครบถ้วนและถูกต้อง ก็จะออกใบอนุญาตให้เลยทันที ผู้ขออนุญาตสามารถรอรับใบอนุญาตจดทะเบียนพาณิชได้เลยในวันเดียวกัน มีค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนพาณิชย์ 50 บาทเท่านั้น
2. ป้ายชื่อร้าน
การเปิดร้านร้านอาหารทั่วไป และ เปิดร้านเหล้า ที่ขายเครื่องดื่มสุรา แน่นอนว่าทุกร้านก็อยากให้มีคนรู้จักและเข้ามาใช้บริการกันให้มาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีป้ายบอกชื่อร้าน ซึ่งป้ายชื่อร้านจะต้องขึ้นทะเบียนภาษีป้าย เพื่อการเสียภาษีป้ายประจำปี ถ้าเป็นในกรุงเทพมหานครก็ยื่นที่สำนักงานเขต หากเป็นต่างจังหวัดก็ที่ยื่นที่องค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หรือที่ว่าการอำเภอแล้วแต่กรณีว่าร้านอาหารจะตั้งอยู่ในเขตหรือท้องที่การดูแลของหน่วยงานใด
เอกสารที่ต้องใช้ในการขึ้นทะเบียนภาษีป้าย
แบบคำขอขึ้นทะเบียน ตามแบบฟอร์มที่ท้องที่กำหนด
สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนผู้ยื่นขอเสียภาษีป้าย
แบบป้ายชื่อร้าน ขนาดความกว้างความยาว หรือใบเสร็จรับเงินที่ร้านทำป้ายออกให้
แผนที่ร้านที่จะติดตั้งป้ายชื่อร้าน
หนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบ กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปยื่น
ป้ายชื่อร้าน มีด้วยกัน 3 ประเภท และมีอัตราภาษีที่แตกต่างกัน
ป้ายชื่อร้านที่มีข้อความเป็นภาษาไทยล้วน อัตราภาษีจะอยู่ที่ 3 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร แต่จะเก็บขั้นต่ำ 200 บาท
ป้ายชื่อร้านที่มีข้อความเป็นภาษาไทยปนภาษาอังกฤษ และภาษาไทยอยู่ด้านบนภาษาอังกฤษ อัตราภาษี 20 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ขั้นต่ำ 200 บาท
ป้ายชื่อร้านที่มีข้อความเป็นภาษาอังกฤษล้วน หรือไทยปนอังกฤษแต่ภาษาอังกฤษอยู่ด้านบนภาษาไทย อัตราภาษี 40 บาทต่อ 500 ตารางเซนติเมตร ขั้นต่ำ 200 บาท
การไปขอขึ้นทะเบียนภาษีป้าย ก่อนจะมีการอนุญาตให้ขึ้นทะเบียน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่รับคำขอจะออกไปทำการตรวจสอบป้ายและวัดขนาดเพื่อดูว่าเป็นความจริงตามที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนหรือไม่ หากเห็นว่าถูกต้องก็จะขึ้นทะเบียนให้ หากไม่ถูกต้องก็จะขอให้แก้ไขเอกสารคำขอให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และเสียภาษีตามที่เจ้าพนักงานประเมินให้ ส่วนในปีต่อๆ ไป ให้เสียภาษีอัตราเดิม ภายในเดือนมีนาคม ของทุกๆ ปี
3. การขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มสุรา
เครื่องดื่มสุรา เป็นเครื่องดื่มประเภทที่อยู่ในข่ายต้องขออนุญาตในการจำหน่าย หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลและออกใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มสุรา คือ กรมสรรพสามิต ในท้องที่กรุงเทพมหานครขออนุญาตได้ที่กรมสรรพสามิต ส่วนในต่างจังหวัดขออนุญาตได้ที่สำนักงานสรรพสามิตจังหวัด ใบอนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มสุรา แบ่งออกเป็นใบอนุญาตผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ผู้ค้าส่ง และผู้ค้าปลีก
ใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตหรือนำเข้าสุรา ใบอนุญาตประเภทนี้ การขออนุญาตจะมีขั้นตอนยุ่งยากมาก และเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ทั้งการจัดตั้งโรงงานผลิต การติดตั้งเครื่องจักร การแจ้งสูตรผสม การติดฉลาก อีกทั้งยังต้องทำสัญญากับกรมสรรพสามิต กำหนดราคาหน้าโรงงาน เพื่อการคิดคำนวณแสตมป์และภาษีสรรพสามิตอีก บุคคลธรรมดาไม่สามารถขออนุญาตได้ ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้นจึงจะสามารถขออนุญาตได้
ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการค้าส่งสุรา เป็นใบอนุญาตจำหน่ายส่งสุราที่ผลิตหรือนำเข้าที่ได้รับอนุญาตโดยถูกต้อง จำหน่ายในปริมาณครั้งละมากๆ และไม่ใช่เป็นผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าด้วยตัวเอง
ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกสุรา ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบการขายปลีกสุรา ซึ่งผู้ทำกิจการร้านอาหารพร้อมจำหน่ายสุรา จะเข้าข่ายต้องขออนุญาตประเภทนี้
ในกิจการร้านอาหาร จะอยู่ในประเภทผู้ค้าปลีก ต้องยื่นขออนุญาตเป็นผู้ค้าปลีกสุรา อย่างไรก็ตาม ร้านอาหารที่จะได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มสุรา จะมีข้อกำหนดเรื่องโซนนิ่งอยู่ด้วย กล่าวคือจะต้องไม่เป็นร้านที่ตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา อยู่ใกล้ศาสนสถาน หรืออยู่ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง
เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการยื่นคำขออนุญาต
แบบฟอร์มคำขออนุญาตจำหน่ายเครื่องดื่มสุรา แบบ สยพ.1
1.สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนผู้ยื่นขออนุญาต
2.หนังสือยินยอมของเจ้าของสถานที่ ยินยอมให้ใช้สถานที่เป็นที่จำหน่ายเครื่องดื่มสุราพร้อมสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าของสถานที่
3.กรณีเป็นสถานที่เช่า ให้แนบหนังสือสัญญาเช่าสถานที่ พร้อมสำเนาทะเบียนบ้านสถานที่เช่า
4.แผนที่ตั้งร้านจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มสุรา เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบโซนนิ่ง
5.หนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
6.เมื่อยื่นคำขออนุญาตแล้ว เจ้าหน้าที่สรรสามิตจะทำการตรวจสอบโซนนิ่งและเอกสารประกอบการยื่นคำขอ หากครบถ้วนและไม่อยู่เขตห้ามจำหน่ายสุรา เจ้าหน้าสรรพสามิตก็จะออกใบอนุญาตให้ โดยผู้ยื่นขออนุญาตต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาต 1 ปี และต้องต่อใบอนุญาตเป็นประจำทุกๆ ปีไป
ใบอนุญาตจำหน่ายปลีกเครื่องดื่มสุรานี้ ใช้ได้กับการจำหน่ายปลีกเครื่องดื่มสุรา ทุกยี่ห้อที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตและมีจำหน่ายในประเทศ หรือนำเข้าจากต่างประเทศ ที่ติดแสตมป์และเสียภาษีโดยถูกต้องแล้วเท่านั้น ผู้ที่ได้รับอนุญาต จะไปผลิตสุราเองแล้วนำมาจำหน่ายไม่ได้ อย่างไรก็ตามมีข้อสงสัยว่า เครื่องดื่มประเภทคอกเทลที่ปรุงแต่งโดยพนักงานของร้านอาหารหรือบาร์ ที่มีชื่อเรียกเฉพาะออกไป เช่น การนำเอาเปลือกส้ม หรือ ผลไม้มาหมักผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเครื่องดื่มประเภทคอกเทลจำหน่าย เข้าข่ายเป็นการผลิตเครื่องดื่มสุราโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ ตราบใดที่การปรุงแต่งเครื่องดื่มคอกเทลทำด้วยส่วนผสมของสุราที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายก็ไม่เป็นความผิด แต่ถ้าการใช้วัตถุดิบอื่นนำมาหมัก ทำเครื่องดื่มสุราเองแล้วนำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องดื่มคอกเทล เข้าข่ายเป็นการผลิตสุราโดยไม่ได้รับอนุญาตจะเป็นความผิด ทางแก้คือควรหลีกเลี่ยงการหมักสุราที่นำมาเป็นส่วนผสมเครื่องดื่มคอกเทลด้วยตัวเอง ควรใช้สุราที่มีจำหน่ายอยู่แล้ว
ร้านจำหน่ายอาหารและสุราที่มียอดขายถึง 1.8 ล้านบาทต่อปี กฎหมายภาษีอากรกำหนดให้ต้องเป็นผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และจำเป็นต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพกรและจะต้องเรียกเก็บและนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่สรรพกรประจำทุกเดือน
4. ร้านจำหน่ายอาหารและสุรา ที่มีการแสดงดนตรีด้วย
การเปิดร้านจำหน่ายอาหารและสุรา และเปิดให้มีการแสดงดนตรีด้วย หากเปิดเกินเวลา 24.00 น เข้าข่ายเป็นสถานบริการตามกฎหมายสถานบริการ มาตรา 3 (4) ต้องขออนุญาตประกอบกิจการสถานบริการ แต่หากเปิดไม่เกิน 24.00 น. ก็ไม่เข้าข่ายเป็นสถานบริการ ไม่ต้องขออนุญาต
ส่วนร้านจำหน่ายอาหารและสุราที่จะจัดเป็นสถานบริการได้ ต้องไม่อยู่ใกล้ชิดวัด สถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา โรงเรียนหรือสถานศึกษา โรงพยาบาล สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน สโมสรเยาวชนหรือหอพัก หรือในย่านที่ประชาชนอาศัยอยู่ ขนาดที่เห็นได้ว่าจะก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่สถานที่อยู่อาศัยดังกล่าว
ผู้มีอำนาจอนุญาตให้ตั้งสถานบริการในกรุงเทพมหานคร คือ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล โดยให้ยื่นขออนุญาตผ่านสถานีตำรวจท้องที่ ที่สถานบริการตั้งอยู่ ส่วนต่างจังหวัดผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ให้อนุญาต ยื่นขออนุญาตผ่านอำเภอท้องที่ การพิจารณาอนุญาตใช้เวลา 15 วันโดยประมาณ
ข้อควรระวัง สำหรับร้านจำหน่ายอาหารและสุราที่มีการแสดงดนตรีและร้องเพลง คือเรื่องของ ลิขสิทธิ์เพลง ต่างๆ หากจะมีการนำเพลงของคนอื่นมาร้องให้บริการแขกโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงอาจเข้าข่ายเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์เพลง ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์เพลงอาจแจ้งความดำเนินคดี ฐานละเมิดลิขสิทธิ์เพลงได้ และ เป็นความผิดทางอาญาที่มีโทษจำคุกและปรับอีกด้วย
Comments