มวยไทยโบราณ 5 สาย การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา เอกลักษณ์ กระบวนท่า ระเบียบประเพณี และวัฒนธรรมประเพณีของมวยไทย 5 สาย คือ มวยไทยสายไชยา มวยไทยสายโคราช มวยไทยสายลพบุรี มวยไทยสายท่าเสาและพระยาพิชัย และมวยไทยสายพลศึกษา กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย กลุ่มผู้รู้ กลุ่มครูมวย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์และการสังเกตแบบมีส่วนร่วมโดยการศึกษาภาคสนาม
ผลการศึกษาพบว่า
มวยไทยสายไชยา
1. ประวัติความเป็นมาของมวยไทยสายไชยา พบว่า มวยไทยสายไชยาจากอดีตถึงปัจจุบันสามารถแบ่งออกเป็น 4 ยุค
1.1 ยุคแรก กำเนิดขึ้นจากพ่อท่านมาหรือหลวงพ่อมา อดีตนายทหารจากพระนคร สมัยรัชกาลที่ 3 ฝึกมวยให้กับชาวเมืองไชยา และพระยาวจีสัตยารักษ์ เป็นปฐมศิษย์
1.2. ยุคเฟื่องฟู ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์ทรงโปรดฯ ให้มีการชกมวยหน้าพระที่นั่งในงานพระเมรุ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช จากนั้นได้พระราชทานบรรดาศักดิ์แก่นักมวยจากเมืองไชยา คือ นายปรง จำนงทอง เป็นหมื่นมวย มีชื่อ ตำแหน่งกรมการพิเศษเมืองไชยา ถือศักดินา 300 และผู้อยู่เบื้องหลังมวยไทยสายไชยา คือ พระยาวจีสัตยารักษ์ และคุณชื่น ศรียาภัย
1.3. ยุคเปลี่ยนแปลง ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 นักมวยคาดเชือกชื่อนายแพ เลี้ยงประเสริฐ ชกกับนายเจียร์ พระตะบอง ถึงแก่ความตาย รัฐบาล จึงประกาศให้มีการสวมนวมแทนการคาดเชือก และในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 เกิดขึ้นเพราะต้องรื้อเวทีและพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) เจ้าอาวาสวัดบรมธาตุไชยา มรณภาพลงมวยไทยสายไชยาจึงสิ้นสุดลง
1.4. ยุคอนุรักษ์ หลังจากสิ้นสุดสมัยพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) มวยไทยสาย ไชยา
เริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของชาวไชยา อย่างไรก็ตามยังมีผู้ที่เคยเรียนมวยไทยสายไชยา แล้วนำมาสืบทอดต่ออีกหลายท่าน เช่น ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ปรมาจารย์เจือ จักษุรักษ์ นายวัลลภิศร์ สดประเสริฐ
นายทองหล่อ ยา และ นายอมรกฤต ประมวญ นายกฤดากร สดประเสริฐ นายเอล็ก ซุย และพันเอกอำนาจ พุกศรีสุข เป็นต้น
2. เอกลักษณ์ของมวยไทยสายไชยา พบว่า มีทั้งหมด 6 ด้าน คือ การตั้งท่ามวยหรือการจดมวยท่าครูหรือท่าย่างสามขุม การร่ายรำไหว้ครู การพันหมัดแบบคาดเชือก การแต่งกายและการฝึกซ้อม
3. กระบวนท่าของมวยไทยสายไชยา พบว่า มีทั้งหมด 5 ชุด คือ แม่ไม้มวยไทยสายไชยา ท่าบริหารกายเพื่อพาหุยุทธ์ ท่ามวยไทยสายไชยาพาหุยุทธ์ เคล็ดมวยไทยสายไชยา และลูกไม้ มวยไทยสายไชยา
4. ระเบียบประเพณีของมวยไทยสายไชยาและระเบียบการแข่งขันมวยไทยสายไชยา
มวยไทยสายโคราช
1. ประวัติความเป็นมาของมวยไทยสายโคราช มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยอยุธยาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เพราะชาวไทยมีการฝึกการต่อสู้ด้วยอาวุธสั้นประกอบกับศิลปะมวยไทย โดยมีเป้าหมายในการปกป้องประเทศชาติ อีกทั้งโคราชเป็นเมืองหน้าด่านชั้นเอก ที่ต้องทำการรบกับ ผู้รุกรานอยู่เสมอ จึงทำให้ชาวโคราชมีความเป็นนักสู้โดยสายเลือดมาหลายชั่วอายุคน
เมื่อบ้านเมืองสงบ มวยไทยจึงพัฒนามาเป็นศิลปวัฒนธรรมทางการต่อสู้ป้องกันตัวประจำชาติไทย ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นห้วงเวลาที่มวยคาดเชือกรุ่งเรือง มีการจัดการแข่งขันมวยคาดเชือกหน้า พระที่นั่งพลับพลาทรงธรรม สวนมิสกวัน ในงานศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช ในวันที่ 18 - 21 มีนาคม ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) โดยให้หัวเมืองทั่วประเทศ คัดเลือกนักมวยฝีมือดีเข้ามาแข่งขัน นักมวยฝีมือดีชนะคู่ต่อสู้หลายคนจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย ทรงโปรดฯ พระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ ให้กับนักมวยจากมณฑลนครราชสีมา เป็นขุนหมื่นครูมวย ถือศักดินา 300 คือ นายแดง ไทยประเสริฐ ลูกศิษย์ลูกศิษย์ของพระเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราช เป็นหมื่นชงัดเชิงชก นอกนี้ยังมีนักมวยจากโคราชอีกหลายคน ที่มีฝีมือดีที่เดินทางเข้าไป ฝึกซ้อมมวยกับกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ณ วังเปรมประชากร
2. เอกลักษณ์ของมวยไทยสายโคราช พบว่า สวมกางเกงขาสั้นไม่สวมเสื้อ สวมมงคลที่ศีรษะขณะชกและที่พิเศษที่แตกต่างไปจากมวยภาคอื่น ๆ คือ การพันหมัดแบบคาดเชือกตั้งแต่หมัดขึ้นไปจรดข้อศอก เพราะมวยไทยสายโคราช เวลาต่อย เตะวงกว้าง และใช้หมัดเหวี่ยงควาย
3. กระบวนท่าของมวยไทยสายโคราช พบว่า มีการฝึกตามขั้นตอน ฝึกโดยการใช้ธรรมชาติ เมื่อเกิดความคล่องแคล่วแล้วทำพิธียกครู แล้วให้ย่างสามขุมและฝึกท่าอยู่กับที่ 5 ท่า ท่าเคลื่อนที่ 5 ท่า ท่าฝึกลูกไม้แก้ทางมวย 11 ท่า ฝึกท่าแม่ไม้สำคัญสำคัญ ประกอบด้วย ท่าแม่ไม้ครู 5 ท่า และท่าแม่ไม้สำคัญโบราณ 21 ท่า แล้วก็มีโครงมวยเป็นคติสอนนักมวยด้วย พร้อมทั้งคำแนะนำเตือนสติไม่ให้เกรงกลัวคู่ตู่สู้
4. ระเบียบประเพณีของมวยไทยสายโคราช วิธีจัดการชกมวยนิยมจัดชกในงานศพที่ลานวัด
การเปรียบมวยให้ทหารตีฆ้องไปตามหมู่บ้านแล้วร้องบอก ให้ทราบทั่วกัน เมื่อเปรียบได้แล้วให้นักมวย มาชกประลองฝีมือกันก่อนหากฝีมือทัดเทียมกันก็ให้ชก แล้วนัดวันมาชก ในการเปรียบมวยไม่มีกฎกติกาที่แน่นอน หากพอใจก็ชกกันได้ รางวัลการแข่งขันเป็นสิ่งของเงินทอง หากเป็นการชกหน้า พระที่นั่งรางวัล ที่ได้รับก็จะเป็นหัวเสือและสร้อยเงิน
มวยไทยสายลพบุรี
1. ประวัติความเป็นมาของมวยไทยสายลพบุรี มีวิวัฒนาการและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายอย่าง ทำให้มวยไทยสายลพบุรี แบ่งช่วงเวลาต่าง ๆ ตามความสำคัญเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 อยู่ระหว่าง ปีพุทธศักราช 1200–2198 นับเป็นช่วงเริ่มต้นของมวยไทยสายลพบุรี มีปรมาจารย์สุกะทันตะฤๅษี เป็นผู้ก่อตั้งสำนักขึ้นที่เทือกเขาสมอคอน เมืองลพบุรี มีลูกศิษย์ชุดสุดท้ายคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ช่วงที่ 2 อยู่ระหว่างปีพุทธศักราช 2199 – 2410 ถือเป็นช่วงสืบทอดของมวยไทยสายลพบุรี ซึ่งมวยไทยสายลพบุรีเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในสมัยนี้ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ ที่ส่งเสริมมวยลพบุรี อย่างกว้างขวาง มีการจัดการแข่งขัน กำหนดขอบเขตสังเวียนและมีกติกาการชก โดยมีพระพุทธเจ้าเสือ พระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่สนับสนุนมวยไทย และชอบต่อยมวย ถึงขั้นปลอมพระองค์ ไปแข่งขัน ชกมวยกับชาวบ้าน ช่วงที่ 3 อยู่ระหว่างปีพุทธศักราช 2411 – 2487 เป็นช่วงพัฒนาของมวยไทยสายลพบุรี ช่วงนี้มวยไทยสายลพบุรี โด่งดังและเฟื่องฟูจนถึงขีดสุด โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระ-จุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์เรียนวิชามวยจากปรมาจารย์หลวงพลโยธานุโยค พระองค์โปรดมวยมาก เสด็จทอดพระเนตรบ่อยครั้ง ครั้งสำคัญที่สุดคือ การแข่งขันชกมวยในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอุรุพงษ์รัชสมโภช เมื่อวันที่ 19 – 22 มีนาคม พุทธศักราช 2452 ณ เวทีมวยสวนมิสกวัน มีนักมวยไทยสายลพบุรีที่เก่งกล้าสามารถ จนได้รับการกล่าวขานว่า “ฉลาดลพบุรี” คือ นายกลึง โตสะอาด ซึ่งได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หมื่นมือแม่นหมัด และต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีนักมวยดังของลพบุรีอีกหนึ่งคนคือ นายจันทร์ บัวทอง และช่วงที่ 4 อยู่ระหว่างพุทธศักราช 2488 จนถึงปัจจุบัน ถือเป็นช่วงสมัยใหม่ของมวยไทยสายลพบุรี มีนักมวยไทยสายลพบุรีที่เก่งมากเกิดขึ้น อีกสองคนคือ นายทวีศักดิ์ สิงห์คลองสี่ และนายอังคาร ชมพูพวง ซึ่งมีลีลาท่าทางการชกมวยคล้ายหมื่นมือแม่นหมัด คือ ถนัดในการใช้หมัดตรงและหลบหลีกได้คล่องแคล่วว่องไว นับเป็นความหวังใหม่ของมวยไทยสายลพบุรี ที่จะช่วยพัฒนาและฟื้นฟูมวยไทยสายลพบุรีขึ้น โดยได้มี การแข่งมวยในเวทีมวยค่ายนารายณ์เป็นประจำและมีนักมวยเป็นจำนวนมาก
2. เอกลักษณ์ของมวยไทยสายลพบุรี พบว่า เป็นมวยที่ชกฉลาด รุกรับคล่องแคล่วว่องไว ต่อยหมัดตรงได้แม่นยำ เรียกลักษณะการต่อยมวยแบบนี้ว่า “มวยเกี้ยว” ซึ่งหมายถึง มวยที่ใช้ชั้นเชิงเข้าทำคู่ต่อสู้โดยใช้กลลวงมากมาย จะเคลื่อนตัวอยู่เสมอ หลอกล่อหลบหลีกได้ดี สายตาดี รุกรับ และออกอาวุธหมัดเท้าเข่าศอกได้อย่างรวดเร็ว สมกับ ฉายาฉลาดลพบุรี เอกลักษณ์ที่เห็นชัดอีกประการหนึ่งก็คือ มีการพันข้อมือครึ่งแขน
แต่ที่เด่นและแปลกกว่ามวยสายอื่น ๆ คือ การพันคาดทับข้อเท้าซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมวยไทยสายลพบุรี
3. กระบวนท่าของมวยไทยสายลพบุรี พบว่า มี 16 กระบวนท่า ได้แก่ กระบวนท่ายอเขาพระสุเมรุ หักงวงไอยรา ขุนยักษ์จับลิง หักคอเอราวัณ เอราวัณเสยงา ขุนยักษ์พานาง พระรามน้าวศร กวางเหลียวหลัง หิรัญม้วนแผ่นดิน หนุมานถวายแหวน ล้มพลอยอาย ลิงชิงลูกไม้ คชสารถองหญ้า คชสารแทงงา ลิงพลิ้ว
และหนุมานถอนตอ ครูมวยและนักมวยไทยสายลพบุรี ได้แก่ ครูดั้ง ตาแดง ครูนวล หมื่นมือแม่นหมัด
นายซิว อกเพชร นายแอ ประจำการ นายเย็น อบทอง นายเพิก ฮวบสกุล นายจันทร์ บัวทอง นายชาญ ศิวา-รักษ์ นายสมทรง แก้วเกิด และครูประดิษฐ์ เล็กคง นับได้ว่า มวยไทยสายลพบุรี เป็นประวัติศาสตร์ของมวยไทย ซึ่งเป็นมวยท้องถิ่นที่เก่าแก่ที่สุดของอาณาจักรสยาม มีอายุถึง 1,356 ปี มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ทั้งด้านประวัติศาสตร์ ประวัติความเป็นมาเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณี
4. ระเบียบประเพณีของมวยไทยสายลพบุรี แบ่งได้เป็น 3 หัวข้อ คือ
ก) มวยไทยสายลพบุรี มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับวัดในพุทธศาสนา เนื่องจากแหล่งฝึกมวยเกิดจากพระสงฆ์ ที่อยู่ในวัด
ข) ความเป็นมาของกระบวนท่าศิลปะมวยไทยสายลพบุรี เป็นกระบวนท่าที่ผสมกลมกลืนจากการหล่อหลอมและเลียนแบบท่าทางของสัตว์ต่าง ๆ เช่น ลิง และ ช้าง ที่มีอยู่มากในเมืองลพบุรี ตลอดจนจากตำนานการสร้างเมืองลพบุรี
ค) รากเหง้าที่มาของศิลปะมวยไทยสายลพบุรี มาจากหลายสำนักเพราะบรรพชนของมวยไทยที่กระจัดกระจายในแต่ละท้องถิ่น รากเหง้าที่มาจึงไม่ชัดเจน แต่พออนุมานได้ว่า เป็นศิลปะการต่อสู้ที่มาจากองค์ความรู้ที่หลากหลายในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งมีแนวทางเฉพาะตน การแข่งขันมวยไทยสายลพบุรี มีกติกาการชก กำหนด 5 ยก โดยใช้ยกเวียน การหมดยกใช้กะลาเจาะรูใส่ในโหล เมื่อกะลาจมน้ำถือว่าหมดยก การต่อสู้ใช้อวัยวะได้ทุกส่วนของร่างกาย การเปรียบมวยอยู่ที่ความสมัครใจของผู้ชก ไม่เกี่ยงน้ำหนักหรืออายุ การไหว้ครูเหมือนการไหว้ครูสายอื่น ๆ โดยทั่วไป
มวยไทยสายท่าเสาและพระยาพิชัย
1. ประวัติความเป็นมาของมวยไทยสายท่าเสาและพระยาพิชัย พบว่า พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อจ้อย เกิดที่บ้านห้วยคา เมืองพิชัย ปัจจุบันคืออำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่ออายุ 8 ปี บิดานำตัวไปฝากเรียนกับท่านพระครูวัดมหาธาตุเมืองพิชัย จากนั้นได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์เรียนมวยกับครูเที่ยงและเปลี่ยนชื่อเป็นทองดี ครูเที่ยงเรียกว่าทองดี ฟันขาว เรียนมวยสำเร็จ ได้ออกเดินทางขึ้นเหนือต่อเพื่อไปเรียนมวยกับครูเมฆแห่งบ้านท่าเสาได้ไปพักอยู่ที่วัดวังเตาหม้อ (วัดท่าถนนปัจจุบัน) และได้ฝึกหกคะเมนตีลังกาเรียนแบบงิ้วแสดงและนำมาฝึกผสมผสานกับท่ามวย จากนั้นได้เดินทางต่อไปจนถึงสำนักมวยครูเมฆแห่งบ้านท่าเสาและได้ฝากตัวเป็นศิษย์ครูเมฆ เรียนมวยอยู่กับครูเมฆจนเก่งกล้า ครูเมฆจึงได้นำไปเปรียบมวยในงานประจำปีวัดพระแท่นศิลาอาสน์ ได้ชกชนะครูนิลและนายหมึกศิษย์ครูนิล ได้ลาครูเมฆเดินทางต่อไปเพื่อเรียนดาบกับครูเหลือที่เมืองสวรรคโลก พร้อมทั้งได้เรียนมวยจีนหักกระดูกที่เมืองสุโขทัย จากนั้นได้เดินทางผจญภัยต่อไปยังเมืองตากและได้ชกมวยในงานถือน้ำพิพัฒน์สัตยาเอาชนะครูห้าวครูมวยดังของเมืองตาก จนเป็นที่โปรดปราณของพระยาตาก พระยาตากได้ชักชวนให้อยู่รับราชการเป็นทหารองครักษ์ได้รับบรรดาศักดิ์เป็น “หลวงพิชัยอาสา” ได้ร่วมกับพระยาตากกอบกู้เอกราช ตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงและเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินและโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ “เป็นหมื่นไวยวรนาถ” เป็น “พระยาสิหราชเดโช”และเป็น “พระยาพิชัย” โดยลำดับ พ.ศ.2316 โปสุพลา แม่ทัพพม่า ได้มาตีเมืองพิชัยท่านได้นำทหาร ออกรบและต่อสู้กับโปสุพลาจนดาบหักไปข้างหนึ่ง ท่านได้สมญานามว่า “พระยาพิชัยดาบหัก” ตั้งแต่นั้นมาเมื่อสิ้นสมเด็จพระเจ้าตากสินแล้ว สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2325 ท่านไม่ยอมอยู่เป็น ข้าสองเจ้าบ่าวสองนา
มวยไทยสายพลศึกษา
1. ประวัติความเป็นมาของมวยไทยสายพลศึกษา มวยไทยสายพลศึกษาได้ก่อกำเนิดมาพร้อมกับการจัดตั้งสามัคยาจารย์สมาคม เพื่อจัดเป็นสถานที่การออกกำลังกาย สำหรับประชาชนทั่วไป
ปี พ.ศ.2497 โรงเรียนพลศึกษากลาง ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ การเรียนการสอน ก็ยังคงมีการเรียนมวยไทยเหมือนเดิม โดยมีมวยไทยเป็นหมวดวิชาไม่บังคับ หลังจากนาวาเอกหลวงศุภชลาศัย
ได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพลศึกษา ได้ของบประมาณสร้างสนามกีฬาแห่งชาติขึ้นที่บริเวณตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน กรุงเทพมหานครฯ และเรียกว่าสนามกีฬาแห่งชาติ ในขณะเดียวกัน โรงเรียนพลศึกษากลางมีการจัดการเรียนการสอนเต็มเวลา 5 ปี โดยเป็นนักเรียนทุนจากจังหวัดต่าง ๆ ซึ่งมีหลักสูตรมวยไทยในการเรียนการสอนมวยไทยด้วย
ต่อมาหลักสูตรทางด้านพลศึกษา วิทยาลัยพลศึกษายกฐานะเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษาพลศึกษา และต่อมาปี พ.ศ.2517 ได้ยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒพลศึกษาและกรมพลศึกษาได้เปิดวิทยาลัยพลศึกษา ทั้งกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค รวมทั้งสิ้น 17 แห่ง มวยไทยสายพลศึกษา มีการสืบทอดอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งมีปรมาจารย์ผู้ถ่ายทอดวิชามวยไทยสายพลศึกษาที่มีชื่อเสียงนั้นคือ อาจารย์สุนทร ทวีสิทธิ์ หรือ อาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ อีกคนหนึ่งคือ อาจารย์แสวง ศิริไปล์ ปรมาจารย์มวยไทยสายพลศึกษา นอกจากนี้ ยังมีอาจารย์ที่สอนในสายพลศึกษาซึ่งเกี่ยวกับมวยไทยอีกมากมาย ซึ่งทำหน้าที่สืบทอดมวยพลศึกษาต่อ ๆ กันมารุ่นสู่รุ่น
บุคคลที่มีชื่อเสียงในมวยไทยสายพลศึกษา อาทิเช่น อาจารย์สืบ จุณฑะเกาศลย์ อาจารย์ผจญ
เมืองสนธ์ อาจารย์ณัชพล บรรเลงประดิษฐ์ อาจารย์นบน้อม อ่าวสุคนธ์ รองศาสตราจารย์ระดม ณ บางช้าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมบูรณ์ ตะปินา อาจารย์นอง เสียงหล่อ อาจารย์จรัสเดช อุลิต ผู้ช่วยศาสตราจารย์โพธิ์สวัสดิ์ แสงสว่าง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรัจฺน์ เสียงหล่อ อาจารย์สงวน มีระหงส์และอาจารย์จรวย แก่นวงษ์คำ ผู้มีชื่อเสียงในการไหว้ครูและร่ายรำท่าสาวน้อยประแป้ง
2. เอกลักษณ์ของมวยไทยสายพลศึกษา พบว่า มีทั้งหมด 3 ด้าน คือ เอกลักษณ์ด้านการแต่งกาย เอกลักษณ์ด้านการไหว้ครูและร่ายรำมวยไทย เอกลักษณ์ด้านการเรียนการสอน
3. กระบวนท่าของมวยไทยสายพลศึกษา พบว่า ประกอบด้วย กลวิธีการใช้หมัด กลวิธีการใช้เท้า กลวิธีการใช้เข่า กลวิธีการใช้ศอก แม่ไม้มวยไทย และลูกไม้มวยไทย
4. ระเบียบประเพณีของมวยไทยสายพลศึกษา ระเบียบแบบแผนและประเพณีของมวยไทยสายพลศึกษาสามารถแยกออกเป็นประเด็นได้ดังนี้ พิธีการขึ้นครู หรือการยกครู พิธีการไหว้ครู และเครื่องดนตรีประกอบ
Comments